(39) Kakatiya temple / (40) Dholavira
(39) Kakatiya (Ramappa) Temple / Telangana
ภาพสะท้อนของวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และเทคโนโลยีของราชวงศ์กากะติยะ
วัดรามัปปะ (Ramappa Temple) สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์กากะติยะ (Kakatiya) ใช้เวลาถึง 40 ปี แล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1213
แม้จะอายุ 800 ปีแล้ว แต่วัดยังคงไม่บุบสลายในปัจจุบัน เนื่องจากวัดนี้สร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox Technology) ฐานวัดขุดลงไปลึกถึงสามเมตรและอัดแน่นไปด้วยทราย ซึ่งต้องดูแลให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ ตัววัดสร้างด้วยหินซ้อนทับลงไปบนพื้นทราย แต่วิหารสร้างด้วยอิฐมวลเบาเพื่อลดน้ำหนักที่จะกดทับลงไป น่าแปลกที่อิฐเหล่านั้นขนาดเล็กกว่าอิฐที่ใช้ในปัจจุบันและเบาจนลอยน้ำได้ ซึ่งไม่มีที่ไหนในอินเดียที่มีการใช้อิฐแบบนี้และวิธีสร้างอิฐเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้
พระอุโบสถทั้งหลังใช้หินทราย แต่ส่วนที่เป็นไฮไลท์และประติมากรรมสำคัญๆ ทำด้วยหินสีดำทั้งหมด เช่น ศิวลึงค์ เสาหินขนาดใหญ่สี่เสาหน้าพระมหามณฑป และรูปปั้นภูตสตรี 12 องค์ในท่าต่างๆ กับเครื่องประดับของพวกเธอที่แกะสลักไว้นอกอาคาร เป็นต้น บางแห่งเราสามารถเห็นรูปแกะสลักของชาวอียิปต์และชาวเปอร์เซียได้ เป็นที่ทราบกันดีว่าราชวงศ์กากะติยะมีความสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นของชาวเชนและชาวพุทธอีกด้วย
Kakatiya (Ramappa) Temple ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกเมื่อกรกฎาคมที่ผานมา
(40) Dholavira / Gujarat
เราเคยเรียนกันมาว่าในแถบเอเชียอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั้นเก่าแก่ที่สุด (ราวๆ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นวัฒนธรรมรุ่นเดียวกับอียิปต์ และเมโสโปเตเมีย
แม่นำ้สินธุมีต้นกำเนิดอยู่ในปากีสถาน ค่อยๆ ไหลลงมาทางใต้ผ่าน ลาดักห์(Ladakh) ยาวลงมาราชาสถาน (Rajasthan) และลงทะเลที่กุจราต (Gujarat) แต่ตอนนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก แม่น้ำเปลี่ยนทิศบริเวณนี้จึงเป็นทะเลทราย แต่ซากอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus Valley Civilization หรือ เรียกอีกชื่อว่า Harappan Civilization) ยังคงมีเหลืออยู่บ้าง
Dholavira (โดห์ลาวิร่า) ถูกค้นพบในช่วงปีค.ศ.1967-68 กลายเป็นโบราณสถานในยุคอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุแห่งที่ 8 ที่ขุดเจอ (อีก 7 ที่คือ Harappa, Mohenjo-daro, Ganeriwala, Rakhigarhi, Kalibangan, Rupnagar และ Lothal ซึ่งอันหลังนี้อันนี้อยู่ในกุจราตเช่นกัน) และเป็นซากอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุที่ทรงคุณค่าที่สุดในอินเดีย
ความน่าสนใจของซากอารยธรรมที่โดห์ลาริร่า คือ การออกแบบโครงสร้างทางน้ำ วิศวกรรมโครงสร้างการกรองและกักเก็บน้ำ ซึ่งในยุค 3,000 ปีก่อนคริสตกาลไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย
โดห์ลาริร่า ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ ทำเลดี มีแม่น้ำไหลผ่าน 2 สาย ยอดเนินเป็นส่วนของกษัตริย์และราชวงศ์ พื้นล่างลงมาหน่อย เรียกว่า "Middle Town" เป็นโซนของสามัญชน ร้านค้าและตลาด และชั้นล่างสุดบริเวณตีนเขาเรียกว่า "Lower Town" เป็นอ่างเก็บน้ำ 16 แอ่ง ทุกแอ่งมีกระบวนการกรองน้ำและมีท่อหินเชื่อมต่อถึงกัน คาดว่าในยุคนั้นคงจะเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่และน่าจะมีผู้คนอาศัยอยู่มากกว่า 22,000 คน
Dholavira ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อกรกฎาคม 2021